มันซิโม เมเรกัลลี ผู้อำนวยการทีม มอนสเตอร์ ยามาฮ่า เผยว่าการดึงตัว ลูก้า มาร์มอรินี อดีตหัวหน้าฝ่ายเครื่องยนต์ของ เฟอร์รารี่ ในศึก ฟอร์มูล่าวัน มาร่วมเป็นที่ปรึกษาของทีมใน โมโตจีพี กับฐานปฏิบัติการที่ ญี่ปุ่น แสดงให้เห็นถึง “การเปิดใจ”

ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร แชมป์ชาวฝรั่งเศสที่รั้งจ่าฝุงบนตารางแชมเปี้ยนชิพ ออกมาเรียกร้องอย่างหนักถึงความคืบหน้าในการพัฒนารถแข่งของ ยามาฮ่า ตลอดช่วง “วินเทอร์เทสต์” สำหรับฤดูกาล 2022

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน “ความเร็วสูงสุด” ที่ กวาร์ตาราโร มองว่ารถแข่ง M1 ยังคงเป็นรองคู่แข่งอย่างมาก ซึ่งเป็นปัญหามาระยะหนึ่งแล้ว

เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ยามาฮ่า ได้เริ่มทำงานกับ ลูก้า มาร์มอรินี อดีตหัวหน้าฝ่ายเครื่องยนต์ของ เฟอร์รารี่ และ โตโยต้า ในศึก ฟอร์มูล่าวัน ในบทบาที่ปรึกษา

เมเรกัลลี กล่าวว่า “การขยับตัวครั้งนี้” แสดงให้เห็นว่า ยามาฮ่า เริ่มทำงาน “นอกกรอบ” เดิมๆ ของตัวเองในขณะนี้ และคาดว่าผลลัพธ์จะเริ่มแสดงให้เห็นในช่วงปลายปีนี้

“ความคาดหวังนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องการผนึกกำลังใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีคิดของพวกเขาที่เปลี่ยนไปในญี่ปุ่นอีกด้วย” เมเรกัลลี เผย

“พวกเขามักจะทำงานกันแค่ภายในอยู่เสมอ แต่ตอนนี้พวกเขาเริ่มเปิดใจมากขึ้น และมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงรถและผลลัพธ์”

“แน่นอน… ผมหวังที่จะได้เห็นผลลัพธ์บางส่วนจากการร่วมงานกันครั้งนี้ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงสิ้นฤดูกาล เพราะมันเป็นไปตามการคาดการณ์ได้กับการทำงานกับรถแข่ง และเครื่องยนต์ในปีหน้า”

“แต่ผมมีความสุขมากๆ และมั่นใจมากๆ ด้วยเช่นกัน”

สำหรับ มาร์มอรินี เคยร่วมงานกับ เฟอร์รารี่ ในศึก ฟอร์มูล่าวัน นับตั้งแต่ปี 1990-1999 ก่อนจะย้ายไปร่วมงานกับ โตโยต้า ซึ่งในครั้งนั้นแบรนด์รถยนต์สัญชาติญี่ปุ่น ได้เปิดตัวในศึกรถสูตรหนึ่งอย่างเป็นทางการ

ลูก้า มาร์มอรินี

จากนั้น มาร์มอรินี โยกกลับไปร่วมงานกับ เฟอร์รา อีกครั้งในปี 2009 และอยู่กับทีมจนถึงปี 2014 โดยเขาเริ่มงานกับ ยามาฮ่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ความเชื่อมโยงของ มาร์มอรินี และ ยามาฮ่า ถือเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญใน “ปรัชญา” จากทีมโรงงานของพวกเขา โดยก่อนหน้านี้ “เดอะด็อกเตอร์” วาเลนติโน รอสซี่ แชมป์โลก 9 สมัย ได้กล่าวเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาว่า วิศวรชาวญี่ปุ่น “มักทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ”

“เรามีปัญหาคล้ายกันมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้น… ผมคิดว่าในปีหน้ามันจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย” รอสซี่ กล่าวเมื่อปี 2020

“ผมคิดว่ายังไงก็ตาม… วิศวกรชาวญี่ปุ่นควรจะฟังเสียงของนักบิดบ้าง แต่ท้ายที่สุดพวกเขามักทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ พวกเขาคิดไว้แล้วว่าจะทำอะไร”

วีดีโอที่เกี่ยวข้อง