ปัญหาที่เกิดขึ้นมากมายกับรถแข่ง ยามาฮ่า M1 ในปี 2020 ทำให้นักบิดที่ใช้รถโรงงานพังไม่เป็นท่า ในทางกลับกัน ‘A-Spec’ ของ ฟรานโก มอร์บิเดลลี กลับเฉิดฉายมากที่สุด วันนี้มาติดตามข้อมูลเชิงลึกจากปากของ วิลโก ซีเลนเบิร์ก ผู้จัดการทีม ปิโตรนาส ยามาฮ่า เอสอาร์ที ที่จะพาทุกท่านไปไขทุกความข้องใจ และแนวทางที่ “ทีมสีน้ำเงิน” จะกลับมาสู่เส้นทางลุ้นแชมป์โลกอีกครั้ง…

วิลโก ซีเลนเบิร์ก ผู้จัดการทีม ปิโตรนาส ยามาฮ่า เอสอาร์ที ที่พา รถแข่ง M1 ‘A-Spec’ ประสบความสำเร็จอย่างมากจากผลงานของ ฟรานโก มอร์บิเดลลี ในฤดูกาลที่ผ่านมา ได้ออกมาอธิบายว่าคุณ “ศักยภาพในการเข้าโค้ง” คือคุณสมบัติที่ “รถแข่งโรงงานยามาฮ่า” ต้องเร่งฟื้นฟูให้กลับมาให้เร็วที่สุด

“มันไม่ใช่รถแข่งปี 201 แต่พวกเขาใช้แชสซีส์ของ M1 2019” ซีเลนเบิร์ก กล่าวถึงรถแข่ง A-Spec

“แชสซีส์ของปี 2019 แตกต่างกับแชสซีส์ปี 2020 โดยเฉพาะเรื่องของขนาดที่ที่มีความกว้างต่างกันเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีความยาวหรือสิ่งอื่นที่ต่างกัน”

“ดังนั้น เราจึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมันได้ แต่รถแข่งสเป็คโรงงานสำหรับนักบิดแล้วพวกเขาค่อนข้างพอใจในการควบคุมมัน ทว่ามันเป็นการตัดสินใจจากพื้นฐานที่พวกเขาได้ทดสอบในสนามที่เราไม่มีปัญหา”

“ที่ เฆเรซ เราไม่เจอปัญหาใดๆ รวมถึงที่ เซปัง เราก็ไม่เจอปัญหาเช่นกัน แต่สนามอื่นๆ ตลอดทั้งฤดูกาล สถานการณ์ที่แตกต่างมันมักจะมาเยือนคุณ แน่นอนว่ามันคือปัญหาที่แตกต่างออกไปในแต่ละแทร็ก”

“แน่นอนว่ามันคือสิ่งที่คุณคาดไม่ถึง”

“ดังนั้น จุดที่พวกเขาต้องการปรับปรุงสำหรับรถแข่งปี 2020 คือ แชสซีส์ เพื่อให้มีศักยภาพที่การเข้าโค้งเช่นเดียวกับรถแข่งปี 2019”

ขณะที่รถแข่ง ‘A-Spec’ ใช้แชสซีส์ปี 2019 ที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว โดยเฉพาะ “แอร์บ็อกซ์” ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วทางตรง สำหรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาแชสซีส์ “รถโรงงานยามาฮ่า”

“ชัดเจนว่าพวกเขาปรับปรุงรถโรงงานนปี 2020 ให้มีความเร็งทางตรงเพิ่มขึ้น ดังนั้น ยามาฮ่า จะเปลี่ยนแปลงบางอย่างเพื่อทำมัน” ซีเลนเบิร์ก กล่าว

“พวกเขาก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา ในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กับรถแข่งปี 2020 ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ ยามาฮ่า ไม่ได้ทำมาหลายปี”

“แม้พวกเขายังคงปรับปรุงขั้นตอนเล็กๆ น้อยๆ เสมอ แต่ปีที่แล้วมันคือสเต็ปที่ใหญ่มาก และมันก็ชัดเจนว่าทำให้รถแข่งสเป็คโรงงานของ ยามาฮ่า มีปัญหาในบางจุด”

มาเวริค บีญาเลส

แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำได้ดีในการทดสอบช่วง พรี-ซีซั่น เทสต์ แต่เมื่อฤดูกาลแข่งขันเริ่มต้นขึ้น นักบิดที่ใช้รถแข่ง “สเป็คโรงงาน” ทั้ง 3 คน ได้แก่ วาเลนติโน รอสซี่, มาเวริค บีญาเลส และ ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร ก็ต้องประสบปัญหาอย่างหนักจากประสิทธิภาพการทำงานที่ “ไม่สอดคล้องกัน” ของรถแข่ง

ผลกระทบดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างมากต่อ “ฟอร์มอันตกต่ำ” ของ กวาร์ตาราโร ในช่วงท้ายฤดูกาลด้วย รวมถึง บีญาเลส และ รอสซี่ ที่ไม่สามารถจบการแข่งขันบนโพเดี้ยมได้เลยในช่วง 6 สนามสุดท้าย

ขณะที่ มอร์บิเดลลี กลับสร้างผลงานได้อย่างคงเส้นคงวากับ ‘A-Spec’ ด้วยการคว้าชัยชนะได้ถึง 3 สนาม และจบฤดูกาลด้วยการคว้ารองแชมป์โลกในปี 2020

โดยในปี 2021 นักบิดยามาฮ่าทั้ง 4 คน จะยังคงยึดโควต้าสเป็ครถแข่งตามเดิมจากปีที่ผ่านมา แม้ว่า รอสซี่ และ กวาร์ตาราโร จะสลับทีมกันก็ตาม

“สำหรับเรามันชัดเจนมากว่าการขับขี่ของ ฟรานโก้ ที่ทำได้บนรถแข่งปี 2019 และแชสซีส์ นั้นเป็นส่วนผสมที่ลงตัวของผลงานอันยอดเยี่ยม” ซีเลนเบิร์ก กล่าว

“แต่ผมก็ไม่อยากที่จะทำลายประสิทธิภาพของ ฟรานโก้ เพราะสิ่งที่เขาทำมันยอดเยี่ยมมาก ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเพราะเขามีรถแข่งที่ดีที่สุดของยามาฮ่า แต่มันคือความสามารถของเขาด้วย”

“วิธีที่เขาเอาชนะที่ มิซาโน ในการรั้งหัวแถวและคอนโทรล รอสซี่ ในช่วงต้นของเรซ ซึ่งศักยภาพที่เขาแสดงให้เห็นนั้น ต้องเป็นนักบิดที่ใช้เวลามากพอสมควรจึงจะทำสิ่งนั้นได้”

“ผมไม่อยากจะพูดอะไรมากนัก โดยเฉพาะหากเป็นการลดทอนความสามารถของ ฟรานโก้ แต่แน่นอนว่าเขาได้ประโยชน์จากรถแข่ง A-Spec 2019 ในขณะที่นักบิดยามาฮ่าอีก 3 คนประสบปัญหาอย่างหนัก”

ฟาบิโอ กวาร์ตาราโร และ มาเวริค บีญาเลส

ขณะเดียวกัน ยามาฮ่า มั่นใจว่าพวกเขาได้วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างหมดจดกับ “แชสซีส์ ” รถโรงงานในปี 2020 หลังจากเปรียบเทียบข้อมูล (Data) ด้านต่างๆ กับรถแข่งของ มอร์บิเดลลี (เปรียบเทียบข้อมูล A-Spec และ Factory Spec) ซึ่งในตอนนี้พวกเขาเหลือเวลาในการทดสอบเพียง 6 วัน ในช่วงพรีซีซั่นเทสต์ ก่อนที่ฤดูกาลจะเริ่มต้นขึ้นที่ กาตาร์ ปลายเดือนมีนาคมนี้

“เรามีนักบิด 4 คน ในการทดสอบที่ กาตาร์ และหากพวกเขานำแชสซีส์ 2 ตัว มาทดสอบ เพื่อเปรียบเทียบข้อมูล รวมถึง สวิงอาร์ม หรืออะไรก็แล้วแต่ เพื่อทำการเลือกอะไหล่ชิ้นต่างๆ ทั้งหมดให้พร้อมกับการใช้งาน ภายใต้เวลาอันสั้นนี้สำหรับการแข่งขันในปี 2021” ซีเลนเบิร์ก คอนเฟิร์ม

“เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถสร้างแชสซีส์ได้ภายใน 2 สัปดาห์ เพราะตามปกติแล้วมันต้องใช้เวลา 1 เดือน ในการทำงาน”

“แต่ถ้า ยามาฮ่า มีวัตถุดิบทั้งหมดอยู่แล้ว มันก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลกับการเลือกชิ้นส่วนต่างๆ โดยเฉพาะ แชสซีส์, สวิงอาร์ม หรือชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ กาตาร์ เลย”

Cal Crutchlow, Sepang MotoGP test, 8 Februaray 2020

และเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักบิดยามาฮ่าทั้ง 4 คน พวกเขามีนักบิดทดสอบคนใหม่อย่าง คาล ครัทช์โลว ที่เพิ่งย้ายมาร่วมงานกับทีมในปีนี้

“ประการแรกที่สำคัญสุดๆ คือการสื่อสารระหว่างตัวนักบิด ซึ่งแน่นอนว่า คาล รู้ดีว่าต้องบอกนักบิดคนอื่นๆ เช่นไร แต่บางครั้งมันอาจไม่เป็นผลดีก็ได้ (ฮา)” ซีเลนเบิร์ก พูดติดตลก

“แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลับเข้ามาที่พิตหลังลงบิดรถแข่ง คาล มีความชัดเจนมาก เขาไม่เคอะเขินที่จะบอกสิ่งที่แย่ๆ ของรถแข่ง แต่เมื่อมีบางสิ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว เขาก็จะบอกเราในทันที”

“แน่นอนว่าเขาจะยังคงมีความเร็วอยู่ เพราะเพิ่งรีไทร์จากการแข่งขัน โมโตจีพี หลังจบฤดูกาล 2020 ดังนั้น เขาจะยังคงอยู่ในสภาพร่างกายที่ฟิตมากๆ”

“จริงๆ แล้วเราหวังว่าจะมีเวลาให้นักบิดได้ลงทดสอบมากกว่านี้หน่อย เพราะเมื่อการทดสอบที่ เซปัง ถูกยกเลิกไป เราก็อยากให้ คาล ได้ลงทดสอบเร็วกว่าเดิม เพื่อเก็บข้อมูลเร็วขึ้นกว่าเดิมอีกสักนิด”

“เพราะตอนนี้มันฤดูกาลที่มีโปรแกรมอัดแน่นมาก (จำนวนสนาม) ดังนั้น ประสบการณ์ที่เขามีกับรถฮอนด้า ว่า RC213V นั้นต้องขับขี่อย่างไร และอะไรคือสิ่งที่จำเป็นจำต้องทำ นั่นคือสิ่งสำคัญที่เราจะต้องทำความเข้าใจว่าเรายืนอยู่ในจุดไหน”

ขณะที่การพัฒนาเครื่องยนต์ถูกแช่แข็ง นักบิดยามาฮ่าทุกคนจะได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพจากเครื่องยนต์เพียงบางอย่างเท่านั้น นั่นคือการแก้ไขความ “ไม่คงที่” ของเครื่องยนต์ที่ขัดข้องจาก “ระบบวาล์ว” ในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ซีเลนเบิร์ก เองก็รู้สึกไม่มั่นใจมากนักกับความแตกต่างที่จะเกิดึ้น นอกเหนือไปจากการทำให้ทีมนั้น “อุ่นใจ” มากขึ้น ว่าจะไม่เกิดปัหาเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

“มันคือคำถามที่ดีนะ แต่ก็ตอบค่อนข้างยาก แน่นอนว่าเรามีข้อจำกัดตลอดทั้งฤดูกาล 2020 กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบวาล์ว ซึ่งเมื่อจบฤดูกาลที่ผ่านมา ฟรานโก ก็ขี่โดยใช้ไมล์ของเครื่องยนต์ที่ไม่คิดว่าเราจะทำได้ นั่นคือสิ่งที่ผมเองก็ไม่ค่อยเข้าใจนัก และเขาเองก็ยังสามารถที่จะชนะการแข่งขันกับเครื่องยนต์ตัวนั้นได้ด้วย”

“แต่นั่นก็บอกไม่ได้ว่าเป็นปัจจัยที่ได้จากเครื่องยนต์ทั้งหมด เพราะมันหมายถึงการทำงานร่วมกับ อิเล็กทรอนิกส์, แชสซีส์, ยาง และการทำงานที่ดีด้วยนั้น หากเครื่องยนต์ทำระยะทางเกินลิมิตมาสักหน่อย มันอาจพูดไม่ได้ว่าเกินลิมิตมากเกินไป”

“แต่แน่นอนว่ามันทำให้คุณรู้สึก หวั่นใจเล็กน้อยกับประสิทธภาพของเครื่องยนต์ว่ามันจะพังหรือไม่ ดังนั้น ผมจึงหวังว่ามันจะเป็นไปในทิศทางที่ดีสำหรับปีนี้”

“แต่มันก็ยากที่จะบอกว่า ข้อจำกัดเหล่านั้นจะหมดไปในปีนี้ เพราะเรามีการจำกัดรอบเครื่องยนต์อยู่เล็กน้อย ทว่ามันก็ไม่ได้กระทบต่อการทำงานของเรามากนัก เพราะแม้ว่าเครื่องยนต์มีรอบเครื่องที่หมุนเร็วกว่าเดิมนิดหน่อยในช่วงเวลาไม่กี่วินาที ก็ไม่ได้ทำให้นักบิดของเราเร็วขึ้นกว่าเดิมสักเท่าไหร่”

ขณะที่ประธานของ ปิโตรนาส ยามาฮ่า เอสอาร์ที อย่าง ราซลัน ราซาลี ได้ออกมาเปิดเผยถึง “แรงเสียดทาน” ที่กระทบต่อความสัมพันธ์กับ “ยามาฮ่า” ที่มีคุกรุ่นเล็กน้อยในปที่ผ่านมา รวมถึงการชะลอการอัพเกรดรถแข่งของ กวาร์ตาราโร เพื่อให้รักษาตำแหน่งผู้นำบนตารางแชมเปี้ยนชิพด้วย ซึ่ง ซีเลนเบิร์ก ได้ยืนยันเรื่องนี้เพราะเกี่ยวข้องกับดานเทคนิคของรถแข่ง

“ผมไม่สามารถบอกความรู้สึกนั้นได้ทั้งหมด แต่ผมคิดว่าโดยรวมแล้วเราก็ได้รับการดูแลที่ดีจาก ยามาฮ่า เพราะมันขีดเส้นใต้ไว้อยู่แล้วว่าเราคือทีมแซ็ตเทิลไลต์ เราเช่าซื้อรถแข่งของพวกเขา แต่เมื่อผมมองไปที่สถานการณ์ด้านเทคนิค เราก็ได้รับการซัพพอร์ททั้งหมดอย่างเต็มที่จาก ยามาฮ่า ในแบบที่พวกเขาสามารถให้เราได้” ยอดกุนซือชาวดัตช์ที่ย้ายมาร่วมงานกับ ปิโตรนาส ยามาฮ่า เอสปาร์ที หลังจบปี 2018 กล่าว

“ในมุมของด้านเทคนิค พวกเขามอบทุกสิ่งที่ซัพออร์ทเราได้ในแบบที่มี และในมุมด้านการเงินมันก็ขึ้นอยู่กับเขา (ราซลัน) แน่นอนว่าบางครั้งพวกเขาก็ถกกันค่อนข้างหนัก เพราะเมื่อมันเกี่ยวกับเรื่องเงิน ทุกคนจะเปลี่ยนแปลงไปนิดหน่อย”

“แต่แน่นอนว่าสถานการณ์ในปีที่แล้ว มันไม่ค่อยจะสู้ดีนักสำหรับ ยามาฮ่า เพราะการระบาดของ โควิด-19 มันไม่มีใครที่จะมียอดขายดีนัก”

“ดังนั้น ผมเองก็ไม่อยากจะลงลึกรายละเอียดอะไรมากสักเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องเทคนิค ผมบอกได้เลยว่า พวกเขาซัพพอร์ทเราดีมาก”