ประเด็นความคืบหน้าการต่อสัญญา โมโตจีพี ของประเทศไทย ยังคงอยู่ในความสนใจของแฟนๆ อย่างมาก เพราะมีเรื่องการเสนอเข้า ครม. มาเกี่ยวข้อง ล่าสุด กระทรวงท่องและกีฬา ได้มีจัดประชุมเรื่องนี้เป็นวาระเร่งด่วน เนื่องจากเส้นตายของ ดอร์น่า สปอร์ต คือต้องลงนามภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ เพื่อให้ทันการต่อสัญญาฉบับใหม่ที่มีข้อตกลงเบื้องต้นไว้ 5 ปี และนี่คือใจความสำคัญหลังมีการประชุมคณะอำนวยการจัดการแข่งขันโมโตจีพี ที่มีข่าวว่าได้ทำการถอนวาระการต่อสัญญานี้ ออกจากที่ประชุมเพราะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้ว… วันนี้ Motorsportlives.com วิเคราะห์ประด็นสำคัญมาให้อ่านกันครับ

  • จากเอกสารวาระการประชุม ครม. นับจนถึงล่าสุดในวันอังคารที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา นั้น ยังไม่มีการเสนอวาระการต่อสัญญาโมโตจีพี 5 ปี เข้าที่ ประชุม ครม. เลย โดยการหารือนั้นคือวงเล็กในที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก รายการ โมโตจีพี ประจำปี 2562-2563
  • เหตุที่ยังไม่เคยถูกชงเข้า ครม. เลยนั้น เป็นเพราะการยื้อมติผ่านงบประมาณแผ่นดิน ที่เพิ่งผ่านมติ ครม. หมาดๆ เมื่อต้นปีนั่นเอง
  • นายอนุทิน ชาญวีระกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการลงนามแต่งตั้งโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ขึ้นนั่งเป็นประธานบอร์ดจัดการแข่งขัน โมโตจีพี แทน “บิ๊กป้อม” ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก นายอนุทิน นั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงมีหน้าที่ความรับผิดชอบโดยตรงเรื่องนี้
  • ความคืบหน้าล่าสุดในวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา ภายหลังหารือกันอย่างเคร่งเครียดและการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านแล้ว ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก รายการ โมโตจีพี ประจำปี 2562-2563 ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจคือความสำเร็จและผลประโยชน์ที่ประเทศได้รับจากการแข่งขัน โมโตจีพี จึงได้ขอสรุปเห็นพ้องกันว่า การต่อสัญญา โมโตจีพี ออกไป 5 ปี ระหว่างปี 2564-2568 จะเป็นประโยชน์มหาศาลกับประเทศไทย
  • ข้อสรุปดังกล่าวนำมาซึ่ง การถอนวาระการต่อสัญญาเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโตจีพี ประจำปี 2564-2568 (5 ปี) ออกจากที่ ที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก รายการ โมโตจีพี ประจำปี 2562-2563 (ไม่ใช่ ครม.) โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะรับหน้าที่เห็นหัวหอกเสนอให้ที่ประชุมครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันฯ รวมทั้งสิ้น 33.29 ล้านยูโร คิดเป็นเงินบาท 1,331,600,000 บาท (1 ยูโร = 40 บาท)
  • ฉะนั้น การจะอนุมัติงบประมาณก้อนดังกล่าวจะต้องผ่านความเห็นชอบของ มติ ครม. ซึ่งเชื่อว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะพยายามอย่างหนักในการผลักดันให้เข้า ครม. หน้า เพื่อให้ทันเส้นตายของ ดอร์น่า นั่นเอง

งบดังกล่าวแจกแจงได้ดังนี้

  • ปี 2564 ค่าลิขสิทธิ์ 6,000,000 ยูโร เป็นเงินบาท 240,000,000 บาท
  • ปี 2565 ค่าลิขสิทธิ์ 6,330,000 ยูโร เป็นเงินบาท 253,200,000 บาท
  • ปี 2566 ค่าลิขสิทธิ์ 6,660,000 ยูโร เป็นเงิน 266,400,000 บาท
  • ปี 2567 ค่าลิขสิทธิ์ 7,000,000 ยูโร เป็นเงิน 280,000,000 บาท
  • ปี 2568 ค่าลิขสิทธิ์ 7,300,000 ยูโร เป็นเงิน 292,000,000 บาท

    * นอกจากนี้ ค่าลิขสิทธิ์แล้ว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังเตรียมเสนอให้เห็น ครม. ชอบกรอบวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการจัดการแข่งขันฯ ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดำนเนิการด้านต่างๆ ของการแข่ง (ไม่เกี่ยวกับค่าลิขสิทธิ์) ปีละ 144,835,777 บาท จำนวน 5 ปี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 724,178,885 บาท
  • ดอร์น่า สปอร์ต กรุ๊ป เจ้าของลิขสิทธิ์การแข่งขัน กำหนดให้มีการลงนามในสัญญาก่อนการแข่งขันภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยไทยจะเป็นเจ้าภาพแข่งขัน ฯ สนามที่ 2 ในวันที่ 22 มีนาคม 2563
  • PTT Thailand Grand Prix 2018 และ PTT Thailand Grand Prix 2019 ที่ผ่านมา ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นเนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ มีการเผยแพร่ทางสื่อโทรทัศน์ 207 ประเทศทั่วโลก ผู้รับชมไม่ร้อยกว่า 800 ล้านคน เกิดการกระจายรายได้สู่จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียง ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ 3.4 พันล้านบาท
  • สำนักงบประมาณพิจารณาเห็นว่า การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโตจีพี เป็นการแข่งขันระดับโลก นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ด้านกีฬาของประเทศ ส่งเสริมอุตสาหกรรมกีฬาและส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวจากการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก เป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
  • อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนากีฬามอเตอร์สปอร์ตและกีฬาอาชีพอื่น ๆ ของประเทศไทย ตลอดจนมีความสอดคล้องและเป็นไปตามแนวทางของแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2560-2564) ในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพและต่อยอดอาชีพทางการกีฬา อุตสาหกรรมกีฬา และการมีส่วยร่วมของกิจกรรมกีฬา
  • โดยผลการดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฯ ประจำปี พ.ศ.2561-2562 ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จทั้งจำนวนผู้เข้าชมและรายได้จากผู้เข้าชมการแข่งขันทั้งทางตรงและทางอ้อม สามารถสร้างรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้น เพื่อพิจารณาถึงผลสัมฤทธิ์ที่จะเกิดขึ้นหรือประโยชน์ที่จะได้รับทั้งภาคเศรษฐกิจและสังคมดังกล่าวแล้ว
  • จึงเห็นสมควรที่ ครม. จะพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา โดยการกีฬาแห่งประเทศไทยดำเนินการต่อสัญญาการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ฯ และพิจารณาเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อสมทบค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันกรอบวงเงินดังกล่าว
  • โดยให้การกีฬาแห่งประเทศไทยขอรับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพื่อดำเนินการ และควรคำนึงถึงความประหยัดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งและบริหารสัญญาจะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดที่ทางราชการและประชาชนจะได้รับ

บทสรุปโดย กองบรรณาธิการ Motorsportlives.com

วิเคราะห์ออกมาได้ดังนี้ครับ… สรุปคือที่ผ่านมาที่ได้ข่าวกันมาคือยังไม่เคยเข้า ครม. เลย… แต่ตอนนี้ที่ประชุมบอร์ดโมโตจีพี ได้ถอนเรื่องการต่อสัญญาออกจากที่ประชุมแล้ว เพราะได้ข้อสรุปชัดเจนว่าจะดันเข้า ครม.

เรื่องนี้เป็นผลมาจากการศึกษาผลได้ผลเสียที่มีต่อประเทศแล้ว… ความเห็นสำนักงบฯ คือควรต่อสัญญา…

คนที่จะทำหน้าที่หัวหอกคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่จะต้องไปสู้รบปรบมือใน ครม. แต่ประธานบอร์ด โมโตจีพี เปลี่ยนจาก “บิ๊กป้อม” ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็น “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกุล ที่นั่งตำแแหน่ง รองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข

มีคนถามว่าทำไมต้องเป็น “เสี่ยหนู” นั่นเพราะ แกนั่งตำแหน่ง รองนายกฯ ที่กำกับดูแลกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพราะฉะนั้น ผู้ชายคนนี้จะมีบทบาทอย่างมากในการต่อสู้ใน ครม. เพื่อการต่อสัญญา โมโตจีพี ด้วย…

เส้นตายของ ดอร์น่า คือต้องลงนามภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ฉะนั้นนี่คือวาระเร่งด่วนมาก!

ปอลอ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ (14 ม.ค.) ก็ยังไม่มีวาระการต่อสัญญา โมโตจีพี ถูกชงเข้า ครม. เลย แต่ความเข้มข้นจะเกิดขึ้นหลังจากนี้นั่นเอง…

ลุ้น ครม. หน้าครับ…

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : ประชาชาติธุรกิจ