กกท. แถลง WADA แบนไทยจากเหตุผลด้านกฎหมาย กระทบกีฬาอาชีพ นักกีฬาระดับนานาชาติห้ามใช้ธงชาติไทย 1 ปี รวมถึงวงการมอเตอร์สปอร์ตด้วย ส่งสัญญาณนักแข่งระดับโลก อาทิ อเล็กซ์ อัลบอน ในเอฟวัน, สมเกียรติ จันทรา ใน โมโตทู ขณะสมาพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย (FMSCT) เร่งประสาน FIM ปรึกษาข้อกฎหมายระหว่างประเทศ หาทางออกจัดแข่งในไทย

ตามที่องค์กรต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (World Anti-Doping Agency: WADA) ประกาศไม่ให้การรับรองประเทศไทย เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามกฏของ “วาดา” ที่ต้องการให้แยก “หน่วยงานตรวจสารกระตุ้น” เป็นอิสระ ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ และการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค ทวีป หรือระดับโลก

ล่าสุด เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. ได้แถลงข่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า การทำให้องค์กรเป็นอิสระ จะต้องแก้กฏหมายระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งใช้เวลานาน โดยขณะนี้การดำเนินการอยู่ในระหว่างขั้นตอนการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา พ.ศ. 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ผลกระทบที่วงการกีฬาไทยจะต้องเจอในตอนนี้ ได้แก่

  1. ประเทศไทยจะไม่สามารถขอทุนจาก “วาดา” ได้ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยปฏิบัติข้อนี้อยู่แล้ว
  2. คณะกรรมการของไทยที่นั่งในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการตรวจโด๊ป และ คณะกรรมการกีฬาโอลิมปิก (IOC) จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที โดยไม่สามารถร่วมโหวต และถูกห้ามทำหน้าที่ จนกว่าจะมีการแก้ไข
  3. ในช่วงที่ยังแก้ไข “ปัญหา” ไม่ทัน “ไทย” จะไม่สามารถจัดการแข่งกีฬาระนานาชาตินับตั้งแต่ระดับภูมิภาค, ระดับทวีป หรือระดับชิงแชมป์โลกได้

***แต่การแข่งขันที่มีการเสนอจัดไปแล้ว และกีฬาอาชีพ จะไม่มีผลกระทบ โดยฝ่ายจัดการแข่งขันสามารถเปลี่ยนไปดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรในประเทศไทย ที่ขึ้นตรงกับสหพันธ์กีฬานานาชาติในแต่ละประเภทกีฬา และจัดการแข่งขันได้

ยกตัวอย่าง การแข่งขันจักรยานยนต์นานาชาติ จะต้องขึ้นตรงกับ สมาพันธ์แข่งรถจักรยานยนต์นานาชาติ (FMSCT) เช่นเดียวกับ การแข่งขันรถยนต์ระดับนานาชาติ จะต้องขึ้นต้องกับ ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ร.ย.ส.ท.) หรือ RAAT

  1. ในกรณีนักกีฬาจากประเทศไทยจะมีความแตกต่างจาก รัสเซีย ที่โดนลงโทษก่อนหน้านี้ โดยจะสามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ ต่างจากรัสเซีย เพราะในการแข่งขันโอลิมปิก พาราลิมปิก ไทยจะได้ยกเว้น

***แต่กีฬาระดับทวีป ภูมิภาค และรายการชิงแชมป์โลกต่างๆ จะไม่สามารถใช้ธงชาติไทยได้ 1 ปี ซึ่งหมายรวมถึงกีฬาอาชีพชนิดต่างๆ ด้วย

Somkiat Chantra, Moto2, San Marino MotoGP, 18 September 2021

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่านักแข่งรถชาวไทยในประเภทจักรยานยนต์ ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับแข่งจาก สมาพันธ์แข่งรถจักรยานยนต์นานาชาติ (FMSCT) อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ธงสัญลักษณ์จากองค์กรดังกล่าวแทน ในกลุ่มนี้จะมี สมเกียรติ จันทรา ใน โมโตทู, ธัชกร บัวศรี ในรายการ เอฟไอเอ็ม ซีดีวี โมโตทรี จูเนียร์ เวิลด์ แชมเปี้ยนชิพ รวมถึง เขมินท์ คูโบะ ในรายการ เอฟไอเอ ซีอีวี ยูโรเปี้ยน แชมเปี้ยนชิพ ด้วย

นอกจากนี้ ยังรวมถึงนักแข่งรถชาวไทยที่จะลงแข่งขันรายการระดับนานาชาติอื่นๆ โดยเฉพาะ เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ นั่นเอง

เช่นเดียวกับ อเล็กซ์ อัลบอน ที่จะคัมแบ็กสู่ ฟอร์มูล่าวัน ในปี 2022 กับ วิลเลียมส์ จะต้องใช้ธงสัญลักษณ์ของ ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ร.ย.ส.ท.) หรือ RAAT หากประเทศไทยยังไม่สามารถหลุดพ้นโทษดังกล่าวจาก WADA ได้

“ตอนนี้สิ่งที่ กกท. เร่งผลักดันคือการแก้ไขกฏหมายอย่างรวดเร็วที่สุด โดยอาจจะมีการออกกฏหมายพิเศษ ซึ่งเร็วกว่าวิธีการปกติ คาดว่าจะใช้เวลาแก้ไขภายใน 3-4 เดือน” ดร.ก้องศักด เผย

ขณะเดียวกัน นายธงชัย วงษ์สวรรค์ นายกสมาพันธ์กีฬาแข่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงประเด็นดังกล่าวกับ Motorsportlives.com ว่า “FMSCT ทราบเรื่องตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประกาศในวันที่ 7 ตุลาคม 2021 นั่นหมายความว่าไทยจะโดนลงโทษยาวไปจนถึงวันที่ 7 ตุลาคมปี 2022 หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ในระหว่างนั้น”

“อย่างไรก็ดี FMSCT ได้ประสานไปยัง สมาพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ (FIM) และ สมาพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ เอเชีย (FIM ASIA) เพื่อเร่งหาทางออกร่วมกัน โดยในส่วนของนักกีฬาอาชีพอย่างนักแข่งรถในระดับโลกของไทย อาจจะไม่สามารถใช้ธงสัญลักษณ์ชาวไทย และเพลงชาติไทยได้ระหว่างต้องโทษนี้ โดยเฉพาะการปรากฏบนโพเดี้ยมและการบันทึกสถิติต่างๆ ด้วย”

“ขณะเดียวกันในส่วนของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับนานาชาติในเมืองไทย ตอนนี้รายการที่เร่งด่วนที่สุดคือ เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง แชมเปี้ยนชิพ ที่ล่าสุด ฝ่ายจัดการแข่งขันมีแผนที่จะจัดขึ้นในเมืองไทยที่ สนามช้างฯ จ.บุรีรัมย์ ในวันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ และชิงชัยกัน 2 สุดสัปดาห์ติดต่อกัน เพื่อให้ซีรีส์ชิงแชมป์เอเชียจบอย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องหารือข้อกฎหมายกับ FIM และ FIM ASIA เพื่อหาทางออกให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากใกล้จะถึงเส้นตายการยืนยันเข้าร่วมของแต่ละทีม จากแต่ละชาติที่มีความกังวลเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะการเดินทางและการจัดการแข่งขันในไทยว่าจะมีขึ้นได้หรือไม่?”

ด้าน นายไกรทส วงษ์สวรรค์ อุปนายกสมาคมกีฬาแห่งรถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “เบื้องต้นเราพยายามอย่างหนักในการประสานงานกับ FIM เพื่อหารือด้านข้อกฎหมาย ซึ่งเราไม่ได้นิ่งนอนใจและจะพยายามอย่างสุดความสามารถในการดำเนินงานจุดนี้ เพราะปัญหาใหญ่อยู่ในเรื่องข้อกฎหมายที่อาจต้องตีความกันโดยละเอียด เพื่อให้สามารถจัดการแข่งขันในไทยได้ โดยเฉพาะ เอเชีย โร้ด เรซซิ่ง ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้”

“ส่วน โมโตจีพี ในปี 2022 ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนตุลาคมปีหน้า ผมคิดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะ กกท. ก็ได้เร่งหาทางออกเรื่องโครงสร้างกฎหมายดังกล่าวอยู่”

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสำหรับการแข่งขันมอเตอร์สปอร์ตระดับนานาชาติ ทั้งฝั่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่จะมีขึ้นในเมืองไทย ระหว่างที่ยังไม่พ้นโทษจาก WADA นั้นจะต้องดำเนินการผ่านองค์กรที่ขึ้นตรงกับ FIA หรือ FIM เพื่อให้ทุกอย่างสามารถข้ามพ้นปัญหาดังกล่าวไปให้ได้ก่อน จากนั้นเมื่อสามารถแยกองค์กรตรวจสารกระตุ้นออกจาก กกท. ได้ และผ่านการรับรองจาก WADA ไทยก็จะสามารถกลับมาอยู่ในสถานะปกติในวงการกีฬาโลกเช่นเคย

อย่างไรก็ดี จะต้องรอการแถลงการณ์อย่างเป็นทางการจาก FIM และ FIM Asia เพื่อยืนยันมาตรการต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 วันนี้ จากการเปิดเผยของ FMSCT

สำหรับ กรณีตัวอย่างชาติที่ถูกแบนโดย WADA ได้แก่ รัสเซีย ซึ่ง นิกิต้า มาเซปิน ก็ไม่สามารถใช้ธงชาติรัสเซียได้ แต่ก็ได้รับการรับรองจาก สมาพันธ์ยานยนต์รัสเซียน (Russian Automobile Federation) ในการเข้าร่วมการแข่งขัน ฟอร์มูล่าวัน ซึ่งคาดว่านักขับไทยอย่าง อเล็กซ์ อัลบอน รวมถึง สมเกียรติ จันทรา จะมีลักษณะเดียวกันนี้